Textured soy protein โปรตีนเกษตรคุณค่าเทียบเท่าเนื้อสัตว์

 

โปรตีน เป็นแหล่งอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการซ่อมแซมอวัยวะหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย และร่างกายของเราก็ไม่สามารถปฏิเสธสารอาหารที่สำคัญตัวนี้ได้เลย การได้รับโปรตีนโดยการรับประทานเนื้อสัตว์ จึงถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนปฏิบัติจนเคยชิน แต่สำหรับบางคนแล้ว พวกเขาไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์อย่างที่คนปกติสามารถทำได้ เนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ แต่อย่างไรเสีย พวกเขาก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับประทานโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆได้เช่นกัน แต่แหล่งอาหารเหล่านี้จะสามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้อย่างครบถ้วนทั้งร้อยเปอร์เซนต์จริงหรือไม่ ตามมาดูกันค่ะ

 

การขาดโปรตีนย่อมมีผลให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า สมองสั่งการช้า อ่อนเพลีย หรือความต้านทานโรคต่ำ คนที่ขาดสารอาหารชนิดนี้จึงมักมีอาการแขนขาบวม ผมเปลี่ยนสีหรือแห้งเสีย หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ หากใครยังไม่อยากจะต้องเผชิญหน้ากับอาการเช่นนี้ จึงต้องรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะหมู่ที่เรียกว่า ‘โปรตีน‘ แต่ถ้าเป็นโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ละ จะมีคุณค่าที่เทียบเคียงกับเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อปลา ได้หรือไม่ มาดูกัน

 

เนื้อสัตว์เทียม หรือ โปรตีนเกษตร ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาเลียนแบบเนื้อสัตว์จริงๆ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าโปรตีนเกษตรนี้ ผลิตขึ้นจากแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และผ่านกระบวนการเอกซ์ทรูดด้วยความดันและอุณหภูมิสูง แต่ก่อนที่จะสำเร็จมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น โปรตีนเกษตรได้ถูกพัฒนามาหลายขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตโปรตีนจากพืชชนิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แล้ว แต่ก็ได้มีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ เพื่อให้ผลิตได้ง่าย คุณภาพคงที่ ดูดซึมน้ำเร็ว สีสวย และน่ารับประทาน จนในที่สุดก็ได้มาเป็น ‘โปรตีนเกษตร’ ตามที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้นั่นเอง

 

โปนตีนเกษตรมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกตัว โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า “ไลซีน (Lysine)” ที่มีอยู่ในปริมาณสูงมาก ส่วนสารอาหารอื่นๆก็สามารถพบได้เช่นกัน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต (37.20%) ใยอาหาร (1.10%) ไขมัน (0.26%) ส่วนวิตามินและแร่ธาตุอย่าง โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก โซเดียม ไนอะซีน หรือวิตามีนบี ก็มีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเช่นกัน ในแง่ของคุณภาพของโปรตีนที่พบได้ในโปรตีนเกษตร ก็พบว่ามีค่า PER ที่ใกล้เคียงกับเคซีนในน้ำนมวัว ดังนั้น การที่คุณตัดสินใจรับประทานโปรตีนเกษตรทดแทนการรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จึงไม่ทำให้คุณขาดแคลนสารอาหารได้อย่างแน่นอน

 

รูปแบบในการรับประทานอาหารนั้นสามารถทำได้หลากหลาย เนื่องจากโปรตีนเกษตรที่มีวางจำหน่ายอยู่นั้นทำออกมาอยู่หลายรูปแบบ ทั้งแบบเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นกลาง ชิ้นใหญ่ หรือรูปแบบป่นเป็นผงก็มีให้คุณได้เลือกสรรเช่นเดียวกัน รูปแบบของโปรตีนเกษตรแต่ละชนิด ก็เหมาะต่อการนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำมารับประทานทุกครั้ง โปรตีนเกษตรจะต้องผ่านการคืนตัวให้กลับสู่สภาพพร้อมปรุงเสียก่อน ซึ่งทำได้โดยการนำเอาไปต้มกับน้ำร้อนเป็นเวลาสั้นๆไม่เกิน 3 นาที หรือแช่ในน้ำอุณหภูมิปกติเป็นเวลาไม่เกิน 10 นาที ไม่ว่าคุณจะเลือกบริโภคโปรตีนเกษตรในรูปแบบไหน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ก็มีส่วนมอบคุณประโยชน์ต่อร่างกายที่ดีได้ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์เลย อีกทั้งยังมีประโยชน์มากกว่าเนื้อสัตว์ตรงที่คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาด้านการได้รับไขมันหรือพิษภัยอื่นๆจากเนื้อสัตว์ในปริมาณสูงได้อีกด้วย

 

ด้วยคุณประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมา จึงทำให้คนหันมาผลิตและรับประทานโปรตีนเกษตรกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาของเทศกาลกินเจแล้วด้วยละก็ คุณจะสามารถพบเห็นโปรตีนเกษตรได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำไปผลิตเลียนแบบเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ทำให้การสร้างสรรเมนูด้วยโปรตีนเกษตร ไม่ใช่เรื่องที่ซ้ำซากจำเจหรือน่าเบื่อจนเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในการบริโภคโปรตีนเกษตร ว่าอาหารจำพวกนี้เสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่มีผลทำร้ายสุขภาพร่างกายของเราหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า การรับประทานโปรตีนเกษตรในรูปแบบของเนื้อสัตว์เทียมนี้ ไม่ได้มีประโยชน์และโทษแตกต่างกับการบริโภคถั่วเหลืองธรรมดาเลย หากเราเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็มีผลทำให้เราสามารถได้รับคุณค่าจากถั่วเหลืองได้อย่างสูงสุดอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของชาวฮ่องกง ที่มีการส่งเสริมให้รับประทานถั่วเหลืองเป็นอาหารหลัก ผลการศึกษาพบว่า ‘ไอโซฟลาโวน’ ที่เป็นสารเคมีที่พบในถั่วเหลือง มีความสามารถในการช่วยให้หลอดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำงานได้ดีขึ้นได้ด้วย

 

ปัจจุบัน มีกลุ่มคนจำนวนมากต้องเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค เนื่องจากรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไป โปรตีนเกษตรจึงถือเป็นทางออกสำคัญ สำหรับคนที่ต้องการลดการปริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แต่ยังคงต้องการรับรูป รส หรือกลิ่น ที่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยรับประทานในอดีต เพื่อลดความรู้สึกโหยหิวจากการรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าโปรตีนเกษตรที่เราจะพบเห็นได้ในอนาคต จะต้องมีรูปแบบที่พัฒนาไปไกลมากกว่าที่เคยเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน บางทีคุณอาจจะแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ ว่านี่หรือคือ “โปรตีนเกษตร”