OZONE โอโซน ออกซิเดชัน เป็นโรงบำบัดน้ำเสียของธรรมชาติ

 

โอโซน (Ozone หรือ O3) เป็นโมเลกุลที่ประกอบจากออกซิเจน 3 อะตอม ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก และมีการใช้งานในทางอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ตามบ้านทั่วไป โอโซนถูกค้นพบครั้งแรกโดย คริสเตียน ฟรีดริช เชินไบน์ (Christian Friedrich Schönbein) นักเคมีชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1840 โดยตั้งชื่อตามภาษากรีกคำว่า ozein ซึ่งแปลว่ากลิ่น

 

โอโซนเข้มข้นมีสีฟ้าที่อุณหภูมิและความดันมาตรฐาน (Standard Temperature and Pressure; STP) เมื่ออุณหภูมิลดลงถึง -112 °C โอโซนจะเป็นเป็นของเหลวสีน้ำเงิน และเมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่า -193 °C ก็จะกลายเป็นของแข็งสีดำ

 

มนุษย์ได้นำโอโซนไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์ นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ใช้ฆ่าแบคทีเรีย เป็นต้น ก๊าซโอโซนจัดเป็นก๊าซพิษ การสูดดมก๊าซโอโซนเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแตกต่างจากคำว่าโอโซนที่บางครั้งถูกใช้ในบริบทของการท่องเที่ยวหรือการพักผ่อนหย่อนใจ เช่นในวลีว่า “สูดโอโซน”, “รับโอโซน” หรือ “แหล่งโอโซน” เป็นต้น ถือว่าเป็นการใช้โอโซนผิดความหมาย เพราะความจริงแล้วโอโซนมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ บริเวณที่มีโอโซนมากในประเทศไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และย่านถนนสีลมในกรุงเทพมหานคร คำว่าโอโซนที่ใช้กันผิด ๆ จะหมายถึง ออกซิเจนหรืออากาศบริสุทธิ์ซึ่งดีต่อระบบการหายใจ ไม่ใช่ก๊าซโอโซนที่เป็นพิษ มีอันตรายต่อสุขภาพ

 

โอโซนเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง?

  • เกิดจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงในอากาศอย่างแสงอาทิตย์, ฟ้าแลบ หรือฟ้าผ่า เป็นต้น โดยจะมีรังสียูวีที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างของออกซิเจนให้เป็น O3
  • ความเข้มข้นของโอโซนสูงจากการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูง
  • การใช้รังสียูวีจะสร้างก๊าซโอโซนให้มีความเข้มข้นที่ไม่สูงมากนัก หรือในช่วงคลื่น 185 นาโนเมตร
  • เราสามารถผลิตโอโซนขึ้นเองได้จากอากาศทั่วไปและไฟฟ้า

 

ประโยชน์ของโอโซนมีอะไรบ้าง?

  • ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็วและดีมากๆ
  • ช่วยยับยั้งและทำลายการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับเชื้อแบคทีเรีย
  • ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ สลายก๊าซพิษต่างๆ ออกไปได้ดี
  • ช่วยในการฟอกสีและบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาดและใสขึ้น
  • ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในอากาศ

 

อันตรายของโอโซนมีอะไรบ้าง?

  • อาจเกิดอันตรายแก่ปอดได้โดยเฉพาะในเด็กที่ระบบภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเพียงพอ
  • อาจเกิดผลเสียหรืออันตรายแก่ระบบพันธุกรรม หรืออวัยวะสืบพันธุ์ได้
  • หากมีปริมาณโอโซนสูงมากเกินไปจะก่อให้เกิดเป็นก๊าซพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • หากมีการสัมผัสโอโซนในรูปของของเหลวที่ความเข้มข้นสูงบริเวณดวงตาหรือผิวหนังอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ไปจนถึงอาการไหม้ที่รุนแรงขึ้นได้
  • อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างปวดศีรษะ, แน่นท้อง, ท้องเสีย, คลื่นไส้อาเจียน หรือแน่นหน้าอก เป็นต้น